เกี่ยวกับ สุรักษ์ สุขเสวี
สุรักษ์ สุขเสวี เป็นนักแต่งเพลงที่มีเอกลักษณ์ในการใช้ภาษาในการเขียนเพลงคือมักจะมีภาพหรือฉากอยู่ในเพลง มีผลงานเขียนเพลงทั้งกับบริษัท GMM จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (มหาชน),งานเพลงส่วนตัวกับค่ายเพลงของตัวเอง,ค่ายเพลงอื่นๆ และเพลงเพื่อบริษัทเอกชน,องค์กร,มหาวิทยาลัยต่างๆ กว่า 500 เพลง
สุรักษ์ สุขเสวี เกิดวันที่ 10 ตุลาคม 2510 ที่โรงพยาบาลหมอสงวน อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เป็นบุตรคนที่ 5 ของนายวิเชียร สุขเสวี และนางเฉลียว สุขเสวี (สถาพรศิริกุล) สุรักษ์เป็นนักเดินทางตั้งแต่เด็กเพราะครอบครัวมีอาชีพค้าผลไม้ส่ง จึงมักติดรถบรรทุกไปเที่ยวต่างจังหวัดทุกภาคของประเทศไทยด้วยเสมอ ทำให้สุรักษ์ได้ซึมซับบทเพลงทั้งลูกทุ่ง ลูกกรุง และเพลงสากลในยุค 1970 ที่ทั้งพี่ชายและคนขับรถบรรทุกผลัดเปลี่ยนกันเปิดให้ฟัง เป็นพื้นฐานสำคัญให้เขารู้จักความสละสลวยงดงามทั้งภาษาและท่วงทำนองของบทเพลงแต่ละแบบทั้งเพลงไทยและสากล จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่สุรักษ์เป็นหนึ่งในนักแต่งเพลงจำนวนน้อยคนที่สามารถเขียนเพลงด้วยภาษากลอนกวีได้แบบเพลง “วิมานดิน” (นันทิดา แก้วบัวสาย) หรือ “ลมหนาวและดาวเดือน” (ปนัดดา เรืองวุฒิ) , รัตนโกสินทร์ (สุรสีห์ อิทธิกุล) ,King Of Kings (รวมศิลปิน อัลบั้ม H.M.Blues) ฯลฯ
ประวัติการศึกษา
ประถมศึกษา 1 – 5 ร.ร.อภิบาลกุลบุตร อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ประถมศึกษา 6 ร.ร.สตรีวรนาถ เทเวศร์
มัธยมศึกษา ร.ร.วัดมกุฏกษัตริยาราม
ประโยควิชาชีพ ปวช. การตลาด วิทยาลัยพณิชยการพระนคร
ประโยควิชาชีพ ปวส. การโฆษณา วิทยาลัยพณิชยการพระนคร (ปัจจุบันคือคณะสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร)
เข้าสู่วงการเพลง สุรักษ์เริ่มตามหาความฝันและเส้นทางดนตรีของตัวเองด้วยการแต่งเพลงเก็บเอาไว้จำนวนหนึ่ง จากกีตาร์ราคาถูกและวิทยุเทปบันทึกเสียงที่คุณพ่อยอมลงทุนซื้อให้เมื่อรู้ว่าบุตรชายของตัวเองชอบแต่งเพลง แม้ฐานะของครอบครัวไม่เอื้ออำนวยนัก แล้วอัดส่งไปให้ค่ายเพลงต่างๆ ต้องผ่านอุปสรรคมากมายเพราะไม่รู้จักคนในวงการดนตรี ทำตั้งแต่ไปดัก เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ที่ห้องบันทึกเสียงศรีสยาม เปิดหนังสือดนตรีหาที่อยู่ของ ชาตรี คงสุวรรณ นักแต่งเพลงที่ชื่นชอบแล้วตามไปถึงบ้าน ในที่สุดก็พบว่าคนที่ให้คำตอบเรื่องนี้กับเขาได้โดยตรงคือ นิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงชื่อดังของ บ.แกรมมี่ แล้วตามนิติพงษ์จนเจอด้วยการเปิดสมุดโทรศัพท์โทรหาถึงบ้าน
ลูกศิษย์รุ่นแรกๆของนิติพงษ์ที่ประสบความสำเร็จมาพร้อมๆกับสุรักษ์คือ จักราวุธ แสวงผล, วรัชยา พรหมสถิต, ชนะ เสวิกุล, กฤชยศ เลิศประไพ (The Must),มนต์ชีพ ศิวะสินางกูร ปี 2533 เป็นปีแห่งการเริ่มต้นการเป็นนักแต่งเพลงอาชีพของสุรักษ์ เพียงปีแรกที่เริ่มทำงาน ลายมือของเขาก็เริ่มบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ทางภาษา เช่นเพลง หัวใจขอมา วิมานดิน หมากเกมนี้ แทนคำนั้น นาทีที่ยิ่งใหญ่ ฯลฯ งานเขียนเพลงทำให้เขาได้พบชีวิตที่อิสระ เดินทางคนเดียว ใช้สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆของประเทศไทยเป็นที่เขียนเพลง แต่สุรักษ์บอกว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นในชีวิตการทำงานของเขาคือการได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับ เรวัต พุทธินันทน์ หลังวงการเพลงต้องสูญเสีย เรวัติ พุทธินันทน์ ไปในปลายปี 2539 สิ่งทิ่เกิดขึ้นทำให้คนในตึกแกรมมี่ปั่นป่วน ทีมงานแตกออกเป็นหลายทีมย่อย สุรักษ์เป็นคนหนึ่งที่ตัดสินใจลาออกเป็นนักแต่งเพลงอิสระตั้งแต่ต้นปี 2544 เปิดบริษัทเล็กๆของตัวเองชื่อบริษัท MIND MEDLEY (I Feel Fine Music) ทำอัลบั้มอินดี้ รับแต่งเพลงให้บริษัทองค์กรต่างๆ มากมาย เขียนหนังสือ และเป็นวิทยากรสอนการแต่งเพลงให้กับสถาบันต่างๆเป็นบางครั้ง
ผลงานหลังจากที่ออกจากการเป็นนักแต่งเพลงประจำบริษัทแกรมมี่ สามารถชมได้ด้านล่างนี้...
ผลงานหนังสือและอัลบั้มเพลง
อัลบั้ม “ดนตรีสีคราม” (2544) เป็นอัลบั้มอินดี้ที่สุรักษ์ สุขเสวี แยกออกจากแกรมมี่มาทำเอง โดยไม่ได้ทำโปรโมชั่น แนวเพลงเป็นแนวป๊อบร็อค แต่ไม่ตามแนวตลาด จนอัลบั้มนี้กลายเป็นของสะสมสำหรับผู้ที่ชื่นชอบผลงานของสุรักษ์ มีเพื่อนฝูงพี่น้องคนดนตรีระดับแนวหน้าของเมืองไทยมากมายร่วมงานในอัลบั้มนี้ โดยสุรักษ์ สุขเสวี รับเหมาหน้าที่เป็นทั้งโปรดิวเซอร์ แต่งเพลงเองทั้งคำร้อง - ทำนอง และร้องเอง เป็นอัลบั้มที่มีกลิ่นอายทางดนตรีตามแบบศิลปินต่างประเทศที่สุรักษ์ชื่นชอบคือ Phil Collins, Bryan Adams, Toto , The Moody Blues
อัลบั้ม “ภาพผ่านวันเขียนเพลง” (2545) เป็นซีดีรวมผลงานการแต่งเพลงของสุรักษ์ สุขเสวี มีเพลงฮิตที่คุ้นหูคนฟังมากมายในอัลบั้ม อาทิ เธอผู้ไม่แพ้ (ธงไชย),ชายคนหนึ่ง (ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล),วิมานดิน (นันทิดา),ลมหนาวและดาวเดือน(ปนัดดา),เก็บมันเอาไว้(เจตริน)ฯล ออกในสังกัด Grammy Big
หนังสือ “ความรักเขียนเพลง” (2545) สุรักษ์ได้ชักชวนนักแต่งเพลง 15 ท่าน จากค่ายเพลงต่างๆ ให้เลือกเพลงที่ตัวเองแต่งมาเขียนถึงแรงบันดาลใจและที่มาในเพลงนั้นๆ มีตัวอย่างลายมือของผู้แต่งแต่ละเพลงด้วย นักแต่งเพลงที่รับเชิญมาร่วมเขียนในพ๊อคเก็ตบุ๊คเล่มนี้ อาทิ ครูสลา คุณวุฒิ / เหนื่อยไหมคนดี ,กมลศักดิ์ สุนทานนท์ / เล่าสู่กันฟัง สารภี ศิริสัมพันธ์ / ลึกสุดใจ ,วรรธนา วีรยวรรธน / เธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม
อัลบั้ม ALL STARS FOR CARE (2546) เป็นอัลบั้มเพลงรักการกุศลเพื่อมูลนิธิรักษ์ไทย - องค์การแคร์ ที่สุรักษ์ สุขเสวี รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์และแต่งเพลงเองทั้งหมด โดยมีดาราและวีเจระดับแนวหน้าของเมืองไทย รับเชิญมาเป็นศิลปินร่วมร้องเพลงในอัลบั้มนี้คือ นุ่น – สินิทธา, พลอย – เฌอมาลย์ บุณยศักดิ์, เชอรี่ เข็มอัปสร , นาเดีย นิมิตวานิช, เติ้ง,เอก,บอส,วุ้นเส้น วีเจจาก Channel V, แพท พัทสน, เอ็ม อภินันท์ , ชาย – ออม นวดี,ธัญญาเรศ รามณรงค์ , ครีม เปรมสินี และน้องๆจากสถาบันสอนภาษาครูเคท
อัลบั้ม THE WINTER SONG (2547) เป็นอัลบั้มอินดี้ของสุรักษ์ สุขเสวี อีกอัลบั้มหนึ่ง สุรักษ์รับหน้าที่โปรดิวซ์และแต่งเพลงทั้งอัลบั้ม ใช้นักร้องที่ทำงานอยู่เบื้องหลังมาเป็นศิลปินรับเชิญทุกเพลงในอัลบั้มนี้ เป็นอัลบั้มเพลงป๊อบแจ๊ซ ที่เน้นอารมณ์ เนื้อหา และเรื่องราวของเทศกาลปีใหม่ มีทั้งเพลงสนุก เศร้า เหงา และอบอุ่น รวมทั้งเพลงบรรเลง เพลงที่หลายๆคนคุ้นหูกันดีเพลงหนึ่งในอัลบั้มนี้คือ เพลง “ถือว่าเป็นอีกปีที่ฉันพอใจ” ที่ แอม เสาวลักษณ์ นำมา Cover ใหม่ ต้นปี 2551
หนังสือ “เราจะนอนมองฟ้าด้วยกันอีกครั้ง” (2548) ที่มา แรงบันดาลใจ และมุมมองส่วนตัวกับ 24 บทเพลงประทับใจ จากปลายปากกาของสุรักษ์ สุขเสวี อาทิ เพลง คู่แท้ (ธงไชย), ชายคนหนึ่ง(ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล), ตัวจริงของเธอ (จั๊ก ดับเบิ้ลยู), นิยามรัก(นูโว),ลาก่อน(อัสนี), ทำไมต้องเธอ(ธงไชย) ฯลฯ มีซีดีเพลงจำนวน 16 เพลงแถมมากับหนังสือด้วย (Bliss Publishing)
หนังสือ “ท้องฟ้าริมหน้าต่าง” (2551) เป็นหนังสือที่เป็นภาคต่อจากเล่ม “เราจะนอนมองฟ้าด้วยกันอีกครั้ง” โดยบอกเล่าถึงที่มาของเพลงที่สุรักษ์แต่งให้กับศิลปินในค่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำนวน 21 เพลง อาทิ เพลง หากันจนเจอ (กบ ทรงสิทธิ์ – กบ เสาวนิตย์), หมากเกมนี้ (อินคา), แทนคำนั้น (วสันต์), ยอม (ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล), ฉันจะจำเธอแบบนี้ (โบ สุนิตา), เจ้าของฉันคือเธอ (มาช่า) ฯลฯ มีซีดีแถม 16 เพลงเหมือนเล่มแรก (Bliss Publishing)
หนังสือนวนิยาย “มิวส์กับหมู่ดาวกีตาร์” (2551) เป็นนิยายเรื่องแรกในชีวิตการเขียนหนังสือของสุรักษ์ โดยแอบเล่าประสบการณ์ เส้นทางในการตามหาความฝันทางด้านดนตรีของตัวเอง ผ่านตัวละครผู้หญิงที่ชื่อ “มิวส์” และยังคงความเป็นนักแต่งเพลงไว้ด้วยการแต่งเพลงถึง 10 เพลงเพื่อเป็น Sound Track ประกอบหนังสือเล่มนี้โดยเฉพาะ เพลงที่คุ้นหูสำหรับนักฟังเพลง อาทิ โปสการ์ดจากคนไกล (แอน ฐิติมา), ภาพฉันในวันเดิมๆ (ศักดา พัทธสีมา), หนาวเที่ยงวัน (พลอย พัชรพร), เรื่องยาวๆของเธอกับฉัน (นัท มีเรีย) ฯล
อัลบั้ม “Playlist By สุรักษ์ สุขเสวี” (2551) เป็นอัลบั้มรวมผลงานของนักแต่งเพลงระดับหัวกะทิของค่ายจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ในโครงการ 25 ปีแกรมมี่ โดยออกเป็นชุดรีมาสเตอร์ริ่งเสียงจากเพลงต้นฉบับ เป็นแผ่นซีดีคู่ ในรูปแบบซีดีและวีซีดี ผลงานเพลงของ สุรักษ์ที่นำมารวมเช่น วิมานดิน (นันทิดา), คู่แท้ (เบิร์ด), นิยามรัก (นูโว), นาทีที่ยิ่งใหญ่ (คริสติน่า) ฯลฯ
หนังสือ "ชีวิตลิขิตเพลง" The Joruney Through Songs (2562) บอกเล่าที่มาและแรงบันดาลใจของบทเพลงจากปลายปากกาของ สุรักษ์ สุขเสวี พร้อม CD. MP3 คุณภาพไฟล์ 320 Kbps จำนวน 60 เพลง สามารถเข้าไปสอบถามรายละเอียดหรือสั่งซื้อได้ที่หน้าเพจ "ชีวิตลิขิตเพลง By สุรักษ์ สุขเสวี" ตามลิ้งค์นี้
https://www.facebook.com/TheJourneyThroughSongs/?modal=admin_todo_tour สินค้าหมด
อัลบั้ม ส.พ.ส. ส่งเพลงสุข By สุรักษ์ สุขเสวี 12 บทเพลงเทศกาลปีใหม่ ในสไตล์ Pop Jazz ในรูปแบบ USB (Cassette Shape) - CD และ Digital Download โดยมีศิลปินชื่อดังหลายคนมาร่วมส่งบทเพลงแห่งความสุขครั้งนี้ อาทิ ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล, หนึ่ง ETC., ว่าน ธนกฤต, ลูกหว้า พิจิกา, Koh Saxman, ปิงปอง ศิรศักดิ์ & พัดชา พร้อมด้วยวงเกิร์ลกรุ๊ปหน้าใหม่อย่าง MellowBerry456 , วงเด็กๆในนาม Winter Wonder Kids และศิลปินใหม่เสียงคุณภาพอย่าง บิว วรวรรณ ส่องทางธรรม
หนังสือ “เราจะนอนมองฟ้าด้วยกันอีกครั้ง” ตีพิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2548 กับสำนักพิมพ์ Bliss Publishing ในเครือ Image – GMM และพิมพ์ไปทั้งหมด 3 ครั้ง หลังจากนั้น สุรักษ์ สุขเสวี ได้เพิ่มจำนวนเพลงจาก 24 เพลงในเล่มเดิม เป็น 60 เพลง และเปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น “ชีวิตลิขิตเพลง” ในการพิมพ์ครั้งที่ 4 จนมาถึงการพิมพ์ครั้งที่ 5 จึงกลับมาใช้ชื่อหนังสือตามที่เป็นดั้งเดิม ด้วยเหตุผลในการค้นหาทางออนไลน์
เป็นหนังสือที่เขียนถึงที่มาและแรงบันดาลใจ ของบทเพลง 60 เพลง ที่แฟนเพลงยุค “ล้านตลับ” รักและรู้จักกันดี อาทิ “ทำไมต้องเธอ - ธงไชย” “คู่แท้ - ธงไชย” “หัวใจขอมา - คริสติน่า” “แทนคำนั้น - วสันต์ โชติกุล” “ตัวจริงของเธอ – จั๊ก ชวิน” “นิยามรัก - นูโว” “ลาก่อน - อัสนี -วสันต์” “หมากเกมนี้ - อินคา” “นาทีที่ยิ่งใหญ่ - คริสติน่า”
“ชายคนหนึ่ง - ปีเตอร์ คอร์ป” “ลมหนาวและดาวเดือน - ปนัดดา” “วิมานดิน - นันทิดา” ฯลฯ *สั่งซื้อหนังสือ*