"เพียงคำเดียว" บทเพลงอมตะของ สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์
แรงบันดาลใจกับอีกนับ "ล้านคำ" ของนักแต่งเพลงรุ่นหลัง
ตอนเย็นของวันที่ 30 กันยายน 2557 ในขณะที่คนไทยทั้งประเทศกำลังรอลุ้น รอชมการแข่งขันฟุตบอลเอเชี่ยนเกมส์รอบตัดเชือกระหว่างทีมชาติไทย กับเกาหลีใต้ ในเวลาที่ฝนปลายฤดูกำลังโปรยปราย ทั้งกรุงเทพฯกำลังชุ่มฉ่ำ ผมก็ได้ข่าวคราวการเสียชีวิตของครูเพลงท่านหนึ่ง ท่านเป็น ศิลปินแห่งชาติ ที่มีผลงานการแต่งเพลงกว่า 1,000 เพลง ครูเพลงท่านนี้ผมเกือบจะได้มีโอกาสไปกราบท่านเป็นการส่วนตัวพร้อมน้องๆและลูกศิษย์รุ่นหนึ่งของผม แต่ท่านบังเอิญป่วยหนักต้องเทียวไปเทียวมาระหว่างบ้านกับโรงพยาบาลอยู่หลายเดือน ทำให้พวกเราพลาดโอกาสอันเป็นมงคลที่จะได้กราบครูเพลงท่านนี้ด้วย
ผมเคยได้ยินชื่อครู สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ มานานแล้ว ตามประสาคนที่ชอบฟังเพลง ในยุคสมัยหนึ่ง..ตามธรรมเนียมของรายการเพลงลูกกรุงหรือลูกทุ่งเพลงไทย ดีเจมักจะประกาศว่าเพลงที่กำลังจะเปิดนี้เป็นผลงานของครูเพลงท่านไหนให้ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ถือเป็นทั้งการให้เกียรติแก่ผู้แต่งและการให้ข้อมูลแก่ผู้ฟัง และที่น่าขายหน้า สมควรเอาปี๊บคลุมหัวตามสมัยนิยม คือผมนึกภาพไว้ในใจมาเสมอว่าครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เป็นผู้หญิง !!
ตามประสาเด็กบ้านนอกของแท้ ย่อมจะต้องได้ยินเสียงสะท้อนจากโลกนี้ผ่าน วิทยุทรานซิสเตอร์ เริ่มจากหมุนคลื่นหาช่องรายการที่ชอบ หลายวันผ่านไปพอเสียงจากวิทยุเริ่มแผ่วก็แปลว่าถ่านอ่อน ถึงเวลาต้องเปลี่ยนถ่าน ผมจึงคุ้นเคยกับถ่านไฟฉายตรากบและถ่านไฟฉายตรารักชาติเป็นอย่างดี ไล้ฟ์สไตล์ของเด็กไทยในยุคที่โลกไม่ได้หมุนเร็วจี๋แบบทุกวันนี้ มีทีวีดูกันแค่ 4 ช่องคือช่อง 3 – 5 -7 - 9 ก่อนนอนเปิดวิทยุฟัง นิทาน “ลุงพร” ตอนเช้าฟังข่าว สมหญิง และ ดุ่ย ณ บางน้อย ตอนกลางวันฟังละครวิทยุจากค่ายต่างๆ เช่น คณะเกศทิพย์, คณะนีลิกานนท์, คณะแก้วฟ้า ฯลฯ และสาวๆมักจะหลงใหล เสียงหล่อๆของพระเอกในละครวิทยุ ทั้งที่ตัวจริงอาจหน้าเหมือนโจรก็ได้ สรุปว่าชีวิตของผู้คนยุคนั้น ประโลมโลกด้วยเสียงจากวิทยุทรานซิสเตอร์นี่เอง หากขาดเสียงจากวิทยุไป หลายๆคนคงเหมือนจะขาดใจ เป็นยุคสมัยที่ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน แม้กระทั่งคนทำงานออฟฟิศในกรุงเทพฯ ล้วนได้รับความบันเทิงผ่านสื่อในรูปแบบที่ไม่ต่างกันนัก
เมื่อผมโตพอจะเข้าเรียน ให้คุณครูทำการเปิดกบาลสมองเด็กดื้อ เคี่ยวเข็ญจนพออ่านออกเขียนได้ ประมาณชั้น ป.3 หรือ ป.4 หนังสือเล่มแรกในชีวิตที่ผมลงทุนควักเงินออกจากกระเป๋ากางเกงนักเรียนที่แฟบสนิทตลอดชีวิตการศึกษา จ่ายเงินเพื่อซื้อ..ก็คือ หนังสือเพลง ! แบมือออดอ้อนขอเงินคุณยาย 2 บาท เพื่อการนี้เลยครับ และการทุ่มทุนสร้างขนาดนี้สำหรับชีวิตเด็กผู้ชายที่ครอบครัวกำลังพัฒนาสู่ชีวิตที่ดีขึ้น (เรียกสั้นๆว่า จน..นั่นแหละ) ย่อมเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย เพราะผมตามหาเนื้อเพลงเพลงหนึ่งซึ่งได้ยินจากวิทยุทรานซิสเตอร์ โดนใจเด็กกะหร่องกะโปโลอย่างผมมาก เพลงนั้นคือเพลง “เพียงคำเดียว” ที่ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง ผลงานการเขียนคำร้องของครู สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ นั่นเอง ร้านหนังสือในตลาดท่ารถดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เป็นผู้ได้รับเงินที่ผมถือว่าเป็นการจ่ายค่าเรียนเพื่อวิชาชีพในอนาคตของผมไป ยินดีด้วยนะครับ เฮียหนวด..!!
พอได้หนังสือเพลงมา ผมก็เดินไป อ่านไป จำเนื้อเพลงไป เลาะริมคลองดำเนินสะดวกที่ทางเดินเคยปูด้วยไม้หมอน เว้นช่องห่างสักสองนิ้วตลอดทาง กลัวสะดุดตกร่องหัวทิ่มตกน้ำก็กลัว แต่ก็ใจร้อนอยากร้องเพลงนี้ได้จริงๆ และมาจบลงด้วยการหัดร้องเพลง “เพียงคำเดียว” อยู่ใต้ต้นมะม่วงพันธุ์ทองดำในสวนหลังบ้าน ตอนที่ผมทำสิ่งนี้อยู่ ผมไม่รู้ว่าครูสุนทรียา จะกำลังทำอะไรอยู่ ท่านคงมีชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสัน มีภรรยาและลูกๆที่น่ารัก และคงกำลังสนุกกับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ ก็คงได้แต่มโนกันไปนะครับ แต่แนวโน้มน่าจะเป็นเช่นนั้น
หนังสือเพลงยุคราคาเล่มละ 2 บาท , 5 บาท
ถ้าใครสนใจประวัติแบบเต็มๆของท่าน คงหากันได้ไม่ยากนะครับ แต่ย่อๆตามแบบของผม ชื่อ สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เป็นนามแฝงที่ใช้ในการแต่งเพลงครับ ชื่อจริงของท่านคือ เกียรติพงศ์ กาญจนภี เกิดวันที่ 22 กันยายน 2469 เป็นบุตรของหลวงพินิจดุลอัฏ (พุฒ กาญจนภี) ถ้าดูจากพื้นฐานครอบครัวแล้ว ท่านคงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ทักษะในการแต่งเพลงหาเลี้ยงชีพแต่ประการใด เพราะอาชีพที่แท้จริงของท่านหลังจากเรียนจบจากสหราชอาณาจักร คือเป็นนักเศรษฐศาสตร์บริหารการเงิน มีตำแหน่งมากมายในบริษัทหน่วยงานใหญ่ๆหลายแห่งด้วยกัน เช่น ฝ่ายวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย, ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารแห่งเอเชีย จำกัด, ผู้จัดการฝ่ายการเงินบริษัท อิตาเลียน – ไทย จำกัด, ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารสหธนาคาร จำกัด ฯล โดยการแต่งเพลงถือเป็นงานรองที่ทำด้วยใจรักและความสุขส่วนตัวของท่าน
เท่าที่ผมสังเกต สมัยก่อนนักแต่งเพลงจะจับคู่กันสร้างผลงานร่วมกัน ระหว่างคนเขียนทำนองกับคำร้อง เช่น ครูเอื้อ สุนทรสนาน กับครูแก้ว อัจฉริยะกุล / ครูชาลี อินทรวิจิตร กับ ครูสง่า อารัมภีร์ ส่วนของครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ผลงานของท่านส่วนใหญ่แต่งคำร้องร่วมกับทำนองของครู สมาน กาญจนะผลิน และครู สง่า อารัมภีร ไม่ใช่ทั้งหมดทุกเพลงที่มีโครงสร้างการทำงานร่วมกันแบบนี้นะครับ แต่ศิลปินด้วยกัน มักจะหาคนที่สนิท รู้ใจ เข้าใจกันจริงๆ เพื่อจะร่วมกันสร้างผลงานดีๆไว้ประดับวงการ
ครูสมาน กาญจนะผลิน
ครูสง่า อารัมภีร
คราวนี้มาคุยกันถึงว่า คำร้องเพลง “เพียงคำเดียว” สะท้อนอะไรออกมาจากความคิดของผู้แต่งบ้างครับ สิ่งแรกที่ผมสัมผัสได้คือการร้อยต่อสัมผัสระหว่างท่อนเพลง ที่ทำให้เพลงที่มีคำร้องค่อนข้างยาวแบบเพลงนี้จำได้ง่ายขึ้น ถึงจะเป็นมาตรฐานสำหรับการเขียนเพลงระดับครูเพลงในยุคนั้น แต่เพลงนี้ก็มีเสน่ห์ มีกลเม็ดในการค่อยๆละเลียดละเอียดอ่อนก่อนบอกรัก การเกริ่นด้วยประโยคแรกของเพลงว่า “เพียงคำเดียวที่ปรารถนา” ซึ่งคนฟังก็จะตั้งอกตั้งใจฟังว่าตกลงคำนั้นมันคือคำว่าอะไร ถึงจะรู้กันดีอยู่...ว่ามันคือคำว่าอะไร แต่อย่างน้อยเราก็อยากรู้ว่าผู้แต่งจะเฉลย แบบไหน..ตอนไหน และอย่างไร แล้วก็ต้องตามลุ้นกันจนถึงประโยคสุดท้ายของเพลงจริงๆครับ “ก็รัก..ยังไงเจ้าเอย” เฉลยแล้วว่า “เพียงคำเดียว” ที่ต้องการได้ยินจากปากของฝ่ายหญิงคือว่าว่า “รัก” นั่นเอง เป็นอันว่าเพลงจบลงอย่างหมดข้อสงสัย
คุณค่าความคิดสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ปรากฏในเพลงนี้คือ มันสะท้อนว่าคนสมัยก่อน เวลาจะตัดสินใจบอกรักใครสักคน เค้าไม่ได้พูดกันง่ายๆ ต้องเก็บงำความรู้สึกไว้ จนมั่นใจแล้วว่ามันใช่จริงๆ ถึงได้พูดกัน ถามว่าสมัยก่อนจะมีผู้ชายสตรอว์เบอร์แหลปลิ้นปล้อนบ้างหรือเปล่า มันก็ต้องมีเป็นธรรมดาครับ แต่การบอกรักของหนุ่มสาวสมัยก่อนเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเมียดละไม ต้องผ่านความตั้งใจจริงในการกระทำเช่นการเขียนจดหมายถึงกันเป็นต้น ถ้าไม่เห็นความสำคัญ ไม่คลั่งไคล้ หลงใหล มีใจกับเค้าบ้าง ก็คงไม่เสียเวลาลงทุนเขียนไปหา หรือเขียนตอบ ซึ่งอาจต้องขยำกระดาษทิ้งหลายรอบ กว่าจะได้จดหมายที่เรียบเรียงถ้อยคำได้หมดจดอย่างใจ คำว่า “รัก” จากหนุ่มสาวสมัยก่อน จึงเปี่ยมไปด้วย Magic ! เมื่อพวกเขาบอกรักกัน ไม่ว่าจะผ่านทางจดหมาย หรือบอกกันต่อหน้า
แต่ผลงานตามความคิดของนักแต่งเพลงยุคนี้อาจทำให้ครูรู้สึกแย่ก็ได้ครับ เพราะตามที่เป็นอยู่จริงทุกวันนี้ น้องๆเค้ามักจะทดลองจุ๊บกันดูก่อน ถ้ารู้สึกว่ารสชาติใช้ได้แล้วค่อยบอกรักกัน
จนเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ผมได้บังเอิญไปเจอผู้หญิงคนหนึ่งในคลาสฝึกเขียนเพลงของกลุ่มเครือข่ายศิลปะดนตรีเพื่อคนพิการ ที่ผมเป็นที่ปรึกษาโครงการและเป็นวิทยากรสอนเขียนเพลงอยู่ ชื่อคุณ อมรสุดา กาญจนภี ลมอะไรจะพัดพาเธอมาก็ไม่ทราบ แต่เธอก็ผ่านเข้ามาร่วมคลาสในโควต้าที่กลุ่มคนพิการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมด้วย เมื่อรู้ว่าเธอเป็นลูกสาวของครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ผมก็รู้สึกทึ่งและแปลกใจไม่น้อย และถือโอกาสบอกเล่าเรื่องของตัวเองตอนสมัยเด็กๆที่เคยร้องเพลงของคุณพ่อเธอให้ฟัง และผมไม่แปลกใจเลย ตามสำนวนไทยที่ว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เพราะคุณอมรสุดา เธอพกพรสวรรค์มาเต็มเปี่ยม แสดงให้เห็นตั้งแต่ส่งการบ้านผมครั้งแรก สมกับที่เป็นลูกสาวของครูสุนทรียาเลยครับ แต่กลับไปดีเด่นในด้านการเขียนทำนอง ซึ่งต่างจากคุณพ่อของเธอที่ดีเด่นทางด้านการเขียนคำร้อง อาจเป็นเพราะได้ยินเพลงสากลดีๆที่คุณพ่อเปิดมาตั้งแต่เด็ก กลายเป็นภูมิความรู้สั่งสม เป็นพรสวรรค์ที่ไม่เคยมีโอกาสได้นำออกมาใช้ จนกระทั่งมาเจอผมในคลาสสอนเขียนเพลง ถึงตอนนี้ลูกสาวครู มีโอกาสเขียนเพลงให้ศิลปินดังๆมากมายร้อง เช่น แอน ธิติมา ประทุมทิพย์, หนึ่ง ETC., นันทิดา แก้วบัวสาย, ศิรินทิพย์ หาญประดิษฐ์, ศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์, ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี และอีกมากมายร้อง และดูเหมือนว่านี่เป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น...
การได้รู้จักกับคุณอมรสุดา ทำให้มีโอกาสได้รับรู้แง่มุมส่วนตัวของครูสุนทรียาเพิ่มเติม จนอดไม่ได้ที่จะต้องขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟัง บ้านเก่าของครูสุนทรียา อยู่ย่านบางลำพู ที่ตอนนี้คือย่าน ถ.ข้าวสาร นั่นเองครับ ปัจจุบันตัวบ้านยังอยู่และครอบครัวท่านได้ทำสัญญาให้เช่าและกลายเป็นร้านอาหารหรูร้านหนึ่งในย่านนั้น เหตุผลที่ย้ายไปส่วนหนึ่งผมเชื่อว่าท่านคงอยากหนีความพลุกพล่านจอแจของนักท่องเที่ยว ถ.ข้าวสารด้วย คุณอมรสุดาเล่าว่าสมัยที่เธอยังเด็กๆ บ้านหลังนี้เป็นเสมือนบ้านที่นักร้องนักดนตรีที่มีชื่อเสียง จะแวะเวียนกันมาปาร์ตี้ในยามค่ำคืนอยู่เสมอ คุณพ่อเธอสะสมแผ่นเสียงไว้มากมาย และชอบฟังเพลงสากลตามศิลปินในยุคสมัยที่ท่านเติบโตมา ทั้งวงสวิงเครื่องเป่าแบบ Glenn Miller, Frank Sinatra และคงอื่นๆอีกมากมาย สมัยหนุ่มๆท่านเต้น Tap Dance ด้วยครับ ซึ่งเพลงที่จะมาประกอบการเต้นแท็ปแด๊นซ์นี้ก็มักจะเป็นเพลง Jazz นั่นเอง ผมนำมุมนี้มาเล่าเพราะจะได้เห็นภาพของครูสุนทรียาได้ชัดเจนขึ้นครับ ที่บ้านของท่านสมัยก่อนเป็นสถานที่หนึ่งที่เพื่อนๆ นักร้อง นักดนตรีคนสำคัญของยุคนั้น ผลัดเปลี่ยนเวียนหน้ากันมาบ้านครูกันเป็นประจำครับ
Glenn Miller
Frank Sinatra
Tap Dance โดย Fred Astaire
ถึงพวกเราจะอยู่ในยุคที่ความสนุกความบันเทิงเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ง่ายๆใกล้ตัว ผ่านเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยม แต่ก็มีแง่มุมด้านศิลปะและความละเอียดอ่อนในการใช้ชีวิตของคนรุ่นครูมากมายที่พูดได้ว่าน่าอิจฉา การจะเป็นหนุ่มสาวที่ทันสมัยของยุคนั้น ไม่ใช่แค่การแต่งตัวดี รสนิยมดี มีบ้านหรูหรือมีรถยนต์ขับ แต่คุณต้องหัดเต้นรำเพื่อเข้าสังคม และการจะเป็นดาวเด่นได้คือคุณต้องฝึกต้องหัดมันอย่างจริงจังเท่านั้น ถึงไม่ได้เห็นภาพกับนั้นกับตา แต่ผมมีความเชื่อ(ส่วนตัว) ว่าครูสุนทรียา ต้องเป็นชายหนุ่มที่เจ้าเสน่ห์และเนื้อหอมอยู่ไม่น้อย เพราะมีคุณสมบัติครบทั้งหน้าตา มาจากครอบครัวที่ดี เป็นหนุ่มนักเรียนนอกที่เต้นรำเก่ง เล่นดนตรีเก่ง แต่งเพลงเก่งตั้งแต่วัยหนุ่มต้นๆ และมันส่งผลให้ท่านสะท้อนมันออกมาผ่านเพลงที่เขียน เป็นบทเพลงรักที่โรแมนติค เป็นบทเพลงแห่งความสุข ทั้งเพลง “เพียงคำเดียว” หรือ “รักคุณเข้าแล้ว” หรือแม้กระทั่ง “นกเขาคูรัก” ซึ่งจัดเป็นผลงานอมตะของท่าน
เพลง “รักคุณเข้าแล้ว” เป็นเพลงที่ท่านแต่งทั้งคำร้องและทำนองเอง (จากการยืนยันของคนในครอบครัวท่าน) แต่ในเครดิตที่คนทั่วไปรับรู้ ทำนองเพลงกลับเป็นชื่อของครูสมาน กาญจนะผลิน อาจจะเกิดความผิดพลาดเรื่องข้อมูลในสมัยนั้น เชื่อว่าพอแต่งเพลงนี้เสร็จ ครูสุนทรียาก็คงส่งไปให้ครูสมานเรียบเรียงดนตรี พอเพลงเสร็จเป็นมาสเตอร์ คนก็เลยนึกว่าทำนองเพลงนี้แต่งโดยครูสมาน เหมือนที่เคยทำกันมา และแต่งเพลงมามากมายขนาดนั้นครูสุนทรียาก็คงไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องใหญ่อะไร! ถ้าจะให้ผมวิเคราะห์จาก Form ของทำนองเพลง ก็น่าจะเชื่อได้ว่าครูสุนทรียา แต่งทำนองเพลงนี้เองอยู่จริงๆ เพราะท่อนของเพลงไม่เหมือนกับ Form ทำนองเพลงที่ครูสมาน กาญจนะผลิน เคยแต่งมาทั้งหมด
เพลง "รักคุณเข้าแล้ว" ยังได้รับการยกย่องในแง่มุมที่ว่า ครูสุนทรียา เป็นคนแรกที่ใช้คำว่า “ผม..กับ คุณ..” ในเพลง ซึ่งในบทเพลงยุคนั้นมักใช้แค่ฉันกับเธอ พี่กับน้อง หรือยิ่งย้อนยุคเข้าไป ก็ถึงกับใช้คำว่า “เรียม” เลย ผมกำลังตัดสินใจอยู่ว่าจะเขียนเพลงที่ใช้สรรพนามเรียกตัวเองกับแฟนว่า “เก๊า” กับ เต๊ง” (เค้ากับตัวเอง) จะดีมั้ย? เผื่อจะได้อยู่ในตำนานแบบครูบ้าง !
หลังจากมอบความสุขผ่านบทเพลงให้กับคนไทยมามากมายและยาวนาน เมื่อผ่านอายุขัย 88 ปี ที่ใบหน้าของท่านยังเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มและความสุข ท่านก็จากไปอย่างสงบที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพให้แก่ท่าน ถือเป็นเกียรติสูงสุดต่อท่านและครอบครัว และผมขอถือโอกาสนี้แสดงความเสียใจต่อการสูญเสียบุคคลสำคัญท่านหนึ่งในบันทึกประวัติศาสตร์วงการเพลงไทยไว้ ณ ที่นี้
ผมเปิดเพลง “เพียงคำเดียว” ในเวอร์ชั่นที่ผมชื่นชอบที่ขับร้องโดย สุเมธ องอาจ อดีตศิลปินสังกัดแกรมมี่ฯ ฟังไปฟังมาอยู่หลายรอบ แล้วนึกในใจว่า
-
นี่คือเพลงไทยเพลงแรกที่ผมถึงกับซื้อหนังสือเพลงมาเปิดดูเนื้อเพลงเพื่อจดจำและหัดร้อง
-
ย่อมต้องเป็นเพลงสำคัญเพลงหนึ่งในชีวิตผม
-
มันคือจุดเริ่มต้นของอีกหลายร้อยเพลง..ที่ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ไม่เคยรับรู้ว่าท่านเคยได้เจิม เคยได้ประทับอะไรไว้ในหัวใจน้อยๆของเด็กผู้ชายคนหนึ่ง ที่วันนี้สังคมยอมรับและเรียกขานเขาว่า “นักแต่งเพลง” เช่นกัน ขอให้ครูไปสู่สุคติ พักผ่อนให้สบายนะครับ
สุรักษ์ สุขเสวี